สายด่วนนายก 093-130-3409
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT)
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT)
แบบประเมินความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของเทศบาลตำบลท่าวังตาล
หน้าแรก » ข่าวกิจกรรม » ภูมิปัญญาท้องถิ่น อุตสาหกรรมและหัตถกรรม 2
การทำตุง
ตุงล้านนา คำว่า ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตรงกับลักษณะประเภท ปกาฏะ ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัสดุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้องเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ทองเหลือง ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่าง ๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย
จุดประสงค์ของการทำตุงในล้านนามีดังนี้ คือ
- ถวายเป็นพุทธบูชา สร้างให้แก่ตนเองและผู้ล่วงลับไปแล้ว จะได้พ้นจากเวรกรรมและได้ขึ้นสวรรค์
-ประดับประดาศาสนสถาน ศาสนาวัตถุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง เช่น งานปอยหลวง เป็นต้น
- เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะภัยที่เชื่อว่าเกิดจากภูตผีปีศาจ หรือบาปกรรมทั้งหลาย
- ใช้ในทางไสยศาสตร์ ทำเสน่ห์บูชาผีสางเทวดา
- ใช้ในพิธีกรรมและเทศกาลต่าง ๆ เช่น พิธีสวดมนต์ พิธีสืบชะตา การขึ้นท้าวทั้งสี่ การตั้งธรรมหลวง งานปอยหลวง ทอดกฐิน ประเพณีสงกรานต์
อานิสงส์ของการสร้างตุง, ทานตุง
จากหลักฐาน ตำนาน นิราศ ลิลิต และพงศาวดารต่าง ๆ ได้เขียนถึงอานิสงส์ของการสร้างตุงว่าผู้ที่สร้างตุงถวายเป็นพุทธบูชา จะไม่ตกนรก ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้ากลับมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะได้เป็นใหญ่เป็นโต ถ้าสร้างอุทิศให้ผู้ตาย ผู้ตายก็จะพ้นจากการไปเป็นเปรตหลุดพ้นจากบาปกรรมที่ทำไว้จากอานิสงส์ดัง กล่าวนี้ทำให้ชาวล้านนานิยมสร้างตุง กันทุกชั้นวรรณะ ซึ่งรูปแบบของตุงจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมของเจ้าของพิธี พื้นฐานความเชื่อ ของสังคม วัสดุและความสามารถของคนในท้องถิ่นในการที่จะนำเอาวัสดุที่มี มาประดับตุงโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆใน คัมภีร์ใบลานเรื่อง อานิสงส์ทานตุง ฉบับวัดแม่ตั๋ง ตำบลแม่พริก อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ก็ได้กล่าวถึงอานิสงส์ การสร้างเสาตุงและเสาหงส์บูชาพระพุทธเจ้าว่าจะได้ผลบุญพ้นจากอบายภูมิไปเกิดยังสวรรค์ขึ้นดาวดึงส์ หางตุงกวัดแกว่งในยามลมพัด หากพัดแกว่งไปทางทิศตะวันออกผู้สร้างตุงก็จักได้เป็นจักรพรรดิราช หากพัดไปทิศอาคเนย์จัก ได้เป็นมหาเศรษฐี พัดในทิศทักษิณจักได้เป็นเทวดาชั้นมหาราชิก พัดไปทิศหรดีจัก ได้เป็นพระยาประเทศราช พัดไปทิศปัจจิม จักได้เป็นพระปัจเจกโพธิญาณ หากพัดทิศพายัพจักได้ทรงปิฏกทั้ง 3 พัดไปทิศอุตตระจักได้เป็นท้าวมหาพรหม พัดไปทิศอีสาน จักได้เป็นสมเด็จอมรินทราธิราช หากพัดลงด้านล่างจักได้เป็นใหญ่ในโลกนี้ หากพัดขึ้นบนอากาศจักได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และได้พบพระศรีอาริยเมตตรัย สืบสานวัฒนธรรมการใช้ตุงจากคติความเชื่อเหล่านี้ทำให้การพบรูปลักษณ์ของตุง เป็นพุทธศิลป์สำคัญในวัดต่าง ๆ ของล้านนาอย่างหลากหลายแม้ในปัจจุบัน ชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุงเพื่อ ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนาประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีเกี่ยวกับการตาย งานเทศกาล และเฉลิมฉลองต่าง ๆ ตามคติความเชื่อดั้งเดิม สถานการณ์ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนไปเนื่องจากบรรดาหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชน มักใช้ตุง ประดับตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ เพื่อความสวยงามบางงานนำตุงไปใช้อย่างไม่ เหมะสมเป็นการทำลาย คติความเชื่อ ดั้งเดิมของชาวล้านนา เช่น การนำตุงไปประดับเวทีประกวดนางงาม เป็นต้น การใช้ตุงปักประดับสถานที่ได้นั้น ควรใช้ให้ถูกประเภทและเหมาะสม หากไม่มีการอนุรักษ์และศึกษารูปแบบคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ตุงให้เข้าใจ ถ่องแท้แล้ว อนาคตการใช้ตุงในพิธีการต่าง ๆ ตามคติความเชื่อเดิมคงจะถูกดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไปในที่สุด
ประเภทของตุง
ตุงไชย (ตุงไจย) เป็นตุงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนยาว ถือว่ายิ่งยาวยิ่งมีอานิสงค์มาก ตุง ไชยทำด้วยผ้า เส้นฝ้าย เส้นไหม ซึ่งจะทอเป็นใยโปร่ง มีการตกแต่งประดับประดา บ้างก็ทักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม ถ้าผืนยาวมากมักใช้ไม่ไผ่ลำโต ทำเป็นเสาตุงใช้ในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ชาวบ้านจะช่วยกันทำตุงไชยมาปักเรียงรายตามสองข้างทางที่จะเข้าสู่วัด การที่นำตุงไชยมาปักเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ นอกจากปักได้สองข้างทางเข้าวัดแล้ว ยังมีการประดับประดาไว้ รอบศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ที่ทำพิธีฉลองกันด้วย
ตุงใย (ตุงใยแมงมุม) คือ ตุงที่ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกกันคล้ายใยแมงมุม เพื่อใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนาเช่นเดียวกับตุงไชย หรือแขวนไว้ในวิหารหน้าพระประธานถวายเป็นพุทธบูชา การทำตุงชนิดนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละหมู่บ้าน
ตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวงประดิษฐ์ รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ อย่างน้อยแผ่นละสี มาวางซ้อนกันแล้วพับทแยงมุมหลาย ๆ ทบ ใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงส่วนปลายสุด เมื่อคลี่ออกและจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษที่สวยงาม การนำตุงไส้หมูไปใช้ ทำได้โดยนำไปผูกติดกับคันตุงยาวประมาณ ๑ เมตร ใช้ถือร่วมขบวนแห่ครัวตานเข้าวัด ใช้ประดับครัวตาน หรือปักเจดีย์ทรายที่วัดในเทศกาลสงกรานต์ แต่ในบางท้องที่จะใช้ตกแต่งปราสาทศพเพื่อความสวยงาม โดยประดิษฐ์เป็นพวงใหญ่ๆ ใช้กระดาษว่าวสีขาวและสีดำ หรือสีขาวและสีม่วง
ศิลปะการตัดกระดาษให้เป็น “ตุงไส้หมู” เป็นองค์ความรู้ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งชาวล้านนาจะใช้ในพิธีทางศาสนา หรือกิจกรรมทางประเพณีของชาวล้านนา โดยเฉพาะชนกลุ่มไท ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทใหญ่ เป็นต้น ประเพณีปี๋ใหม่ (สงกรานต์) ในพิธีกรรม หรือประเพณีดังกล่าว ชาวล้านนาจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆ สำหรับใช้ในพิธีใน “วันแต่งดา” คือวันสุกดิบ หรือวันเตรียมข้าวของ ซึ่งจะจัดทำก่อนหน้างานประมาณ ๑ วัน สล่าตัดตุงไส้หมู (สล่า แปลว่า ช่าง) หรือผู้ที่สามารถตัดตุงไส้หมูได้ ก็จะนำกระดาษสีต่างๆ มาตัดให้เป็นตุงไส้หมู แล้วนำไปผูกกับไม้ไผ่ซึ่งเหลาเป็นแท่งกลม ยาวประมาณ ๑ เมตร หรือนำไปผูกกับก้าน “ต้นเขือง” (ต้นเต่าร้าง) เพื่อเตรียมไปปักยังเจดีย์ทรายภายในลานวัดในวันพญาวัน หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี
ตุงกระด้าง เป็น ตุงที่ทำด้วยวัสดุคงรูป ผืนตุงทำด้วยไม้แกะสลักบ้าง ปูนปั้นบ้าง หรือบางครั้งก็เป็นโลหะแผ่นฉลุลาย นอกจากนี้ยังมี การประดับตกแต่งด้วยกระจกปั้นปูนเป็นลวดลายต่าง ๆ หรือฉลุเป็นลวดลายประดับบนผืนตุง ตุงกระด้างนี้ ผู้สร้างมักเป็นผู้บรรดาศักดิ์สูง หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอเพราะวัสดุที่ ใช้ตั้งแต่ผืนธงจนการประดับตกแต่งต่างมีราคาสูง และต้องใช้ช่างฝีมือที่ประณีต ซึ่งการสร้าง ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ตุงขอนงวงช้าง หรือตุงขอนก๋ม มีลักษณะเป็นวงแหวน ทำด้วยไม้ไผ่ มัดโยงกันเป็นปล้องหุ้มด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มักผูกติดไว้บริเวณหน้าพระประธาน
ตุงตัวเปิ้ง คือตุงประจำปีเกิด เป็นตุงทำด้วยกระดาษ หรือผ้าทอ, พิมพ์หรือเขียนเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิด นิยมปักบนเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ หรือแขวนบริเวณหน้าพระประธาน
ตุงราว คือตุงขนาดเล็ก มักทำด้วยกระดาษฉลุเป็นลวดลายบนผืนตุง รูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมแบบยาว บางครั้งตัดเป็นรูปคล้ายรูปคน ใช้แขวนเชือกเป็นแนวยาวสลับสีกัน โยงตามเสาของศาลาธรรมหรือประรำพิธี หรือในวิหารที่มีพิธีกรรมทางศาสนา
ตุงตะขาบ ตุงจระเข้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีรูปตะขาบหรือจระเข้ อยู่บนผืนตุงใช้ในงานทอดกฐินตุงดอกบ้อง หรือตุงไส้หมู เป็นตุงที่มีรูปร่างทรงจอมแห ทำจากกระดาษสีต่างผูกติดกับกิ่งไม้ หรือก้านไม้ไผ่เล็ก ๆ ตุงนี้ใช้ในเทศกาลสงกรานต์ โดยปักบนกองเจดีย์ทราย หรือประดับเครื่องไทยทานต่าง ๆ
ตุงค่าคิง เป็นตุงที่มีรูปร่างยาวแคบ ความยาวเท่ากับความสูงองผู้ทำพิธี ผืนตุงทำด้วยกระดาษสีขาว อาจตกแต่งลวดลายด้วยกระดาษเงิน กระดาษทอง ตุงค่าคิงที่ใช้ในงานขึ้นบ้านใหม่ที่มีพิธีสืบชาตาพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือปักบูชากองเจดีย์ทราย
ตุงพระบด,พระบฏ,พระบฎ เป็นตุงที่มีลักษณะเป็นผืนผ้าใบหรือกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดต่าง ๆ ส่วนมากประมาณ 80 คูณ 100 เซนติเมตร กรอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ทำให้ตึง ตุงพระบฎจะเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืน ปางลีลา หรือบางเปิดโลก ลักษณะของการใช้งาน ตุงพระบฎใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์ นอกจากจะใช้ประดับสองข้างพระประธานแล้ว บางแห่งใช้กับพิธีกรรมความเชื่ออีกด้วย เช่น ตุงพระบฏ ที่ใช้ในพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะที่บ้านแม่เหียะ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ตุงสามหาง เป็นตุงที่อาจเรียกชื่อว่า ตุงรูปคนหรือตุงผีตาย ใช้สำหรับนำหน้าศพในสู่สุสานหรือเชิงตะกอน เป็นตุงที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อรวมลักษณะแทนตัวคนเราไว้ด้วยกัน คือส่วนหัวและลำตัวคือส่วนที่กางออกเป็นแขนขาซึ่งบางท่านกล่าวว่าเป็นคติ นิยมเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อเน้นธรรมานุสติถึงความหลุดพ้น ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตุงชนิดนี้บางท้องที่ (ลำปาง) เรียกตุงฮ่างคน หรือตุงอ่องแอ่ง ตุงแดง, ตุงผีตายโหง, ตุงค้างแดง มีความยาว 4-6 ศอก กว้างประมาณ 1 คืบเศษๆ แบ่งความยาวออกเป็น 4 ท่อน ชายด้ายล่างทำเป็น สามชาย ประดับตกแต่งให้สวยงาม การใช้งานใช้ในพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติ เช่นตายเพราะอุบัติเหตุต่างๆ จะใช้ตุงปักไว้บริเวณที่ตาย ก่อเจดีย์ทรายเท่ากับอายุของผู้ตาย ปักช่อน้อยบนเจดีย์ทรายให้ครบ เมื่อเห็นตุงแดงและก่อทรายช่อน้อย ณ จุดใด ก็หมายถึงว่าบริเวณดังกล่าว มีคนตายไม่ดี ไม่งาม
ตุงเหล็ก, ตุงตอง ทำด้วยแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองขนาดเล็กยาวประมาณ 1 คืบ กว้างประมาณ 2 นิ้ว มีคันตุงทำจากเส้นลวดหรือไม้ไผ่ก็ได้ ส่วนมากจะทำอย่างละ 108 อัน มัดติดเป็นพวงโดยทำฐานตั้งไว้ หรือบางแห่งจะวางไว้บนโลงศพ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านมักจะนำมาไว้ที่วัด ตามฐานชุกชี เมื่อจำเป็นต้องใช้งานอีก ก็ไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่
ตุงขอนนางผาน มีลักษณะเป็นตุงขนาดเล็กประดับอยู่ที่ปลายทั้งสองข้างของก้นไม้เล็ก ๆ ที่ติดขวางบนตุงผืนใหญ่ที่เป็นระยะ ๆ บางครั้งทำเป็นรูปทรงคล้ายพู่ห้อย ตุงนี้ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายที่ฐานะยากจนหรือไร้ญาติ