สายด่วนนายก 093-130-3409
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT)
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT)
แบบประเมินความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของเทศบาลตำบลท่าวังตาล
หน้าแรก » ข่าวกิจกรรม » ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
1. การประดิษฐ์โคมไฟจากกะลามะพร้าว : นายบุญรวย ปุกแก้ว หมู่ 3 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี อยู่ในตระกุลปาล์ม เราใช้ประโยชน์จากมะพร้าวได้หลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ จานรองแก้ว กระดุม ฯลฯ
2. การต้องลาย : นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ “การต้องลาย” เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของชาวล้านนา ต้องใช้ความประณีตในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สวยงาม อ่อนช้อยตามแบบของล้านนา เดิมมีการดุนสลักเงินเป็นหลัก แต่มาถึงปัจจุบันเนื้อเงินมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้ช่างดุนเงินเปลี่ยนเป็นโลหะแทน ซึ่งทำให้ได้ชิ้นงานไม่ต่างกันมากนัก และยังสามารถสร้างรูปแบบใหม่ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น การต้องลาย หรือการต๋งลายของล้านนา หมายถึง การตอกลายลงบนแผ่นโลหะ ทางภาคกลางเรียกว่า การบุดุนโลหะ เพื่อให้เกิดความต่างระดับ มิติสูง ต่ำ ของลวดลาย ลักษณะเด่นของการต้องลายล้านนา คือ การแกะลายทั้งสองด้าน แล้วใช้วิธีการดุนลายจากด้านในให้นูนตามโครงร่างรอบนอกของลายก่อน แล้วจึงใช้วิธีการตอกลายจากด้านนอกเข้าไปเพื่อทำรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลักษณะลวดลาย ประกอบด้วย ลายเบา เป็นลายที่ช่างใช้เครื่องมือตอกลงไปบนภาชนะเพื่อให้เกิดลวดลายบนพื้นผิวโดยไม่มีมิติความสูงต่ำ ลายนูนต่ำ เป็นลายที่เกิดจากการตอกลายด้านในเพื่อให้นูนเห็นลวดลายด้านนอกและลายนูนสูง เป็นขั้นตอนการทำลายที่สลับซับซ้อนมาก ต้องมีสมาธิ ใจเย็น และความอดทนสูง
3. การทำโคม : นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ชาวล้านนาที่มีฝีมือเชิงช่างจะประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่างๆ เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมล้านนา มีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร) โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว (โคมเพชร) โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัวโคมญี่ปุ่น โคมผัด ฯลฯ ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบใหม่ เช่น โคมรูปจรวด รูปเครื่องบิน โคมร่ม โคมปราสาท ฯลฯ โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เฮียะ นำมาหักขึ้นเป็นโครง ติดกระดาษสาหรือกระดาษแก้ว ผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม โคมยี่เป็งแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันที่รูปทรงและการประดับตกแต่งลวดลาย เป็นรูปแบบเฉพาะของ แต่ละท้องถิ่น ประเภทของโคมยี่เป็งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
1) โคมรังมดส้ม
โคมรังมดส้ม บ้างเรียกว่า โคมเสมาธรรมจักร มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า ธรรมจักร โคมรังมดส้มนี้ ใช้ไม้ไผ่เฮียะ เหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒ - ๓ มิลลิเมตร นำมาหักเป็น ๑๖, ๒๔ เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำมาผูกด้วยด้ายให้แน่น เมื่อมัดโครงเสร็จแล้ว นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อทำเป็นโครงสำเร็จแล้ว ติดกระดาษรอบโครง ปล่อยส่วนบนไว้ เพื่อเป็นช่องใส่ผางประทีส และให้อากาศเข้ามาในโคมได้ ตัดลวดลาย อาจจะเป็นลายดอกก๋ากอก (ลายประจำยาม) ลายตะวัน สำหรับประดับตกแต่ง หลังจากนั้นติด หางโคม สำหรับกระดาษที่ใช้ทำโคม อาจใช้กระดาษแก้วหลากสีเป็นอุปกรณ์ทำโคม ถ้าใช้กระดาษสี ไม่นิยมประดับด้วยลวดลาย โคมรังมดส้มใช้จุดเป็นพุทธบูชา
2) โคมดาว
โคมดาว เป็นโคมรูปดาว มีห้าแฉก ตัวโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะ หักมุมเป็นห้ามุม ใช้กระดาษสาหรือผ้าติดหุ้ม ตัวโครง ตัดกระดาษสีเงินสีทองประดับตกแต่งลวดลาย ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายดวงตะวัน (พระอาทิตย์) เป็นลายลักษณะรูปกลม เจาะช่องตรงกลางเป็นปล่องสำหรับใส่ผางประทีป เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา
3) โคมหูกระต่าย
โคมหูกระต่าย เป็นโคมยี่เป็งอีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ละเอียดซับซ้อน ฐานโคมเป็นไม้หนาประมาณ ๕ มิลลิเมตร ทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เจาะรูตรงมุมทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๒๕ – ๓๐ เซนติเมตร เหลาให้มีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ปักลงไปในรูที่เจาะไว้ทั้งสี่มุม ดัดไม้ไผ่เหลาเป็นรูปโค้งคล้ายหูกระต่าย หรือกลีบดอกบัว ให้ส่วนบนผายออกกว้างประมาณ ๑๕ เชนติเมตร จะได้ตัวโคมที่มีปากบาน คล้ายหูกระต่าย ประดับตกแต่งด้วยกระดาษแก้วทั้งสี่ด้าน หรือใช้กระดาษสาก็ได้ โคมหูกระต่ายนี้ อาจจะทำฐานจากกาบกล้วย หรือลำต้นมะละกอก็ได้ และถ้าใช้ถือ ให้ใส่ด้ามถือยาวตามต้องการหรือปรับรูปทรงเป็นดอกบัว มีกลีบซ้อนได้ตามต้องการ
4) โคมผัด
โคมผัด เป็นโคมลักษณะพิเศษ เพราะหมุนได้ คล้ายโคมเวียนของภาคกลาง คำว่า ผัด ในภาษาล้านนา แปลว่า หมุน โคมชนิดนี้เป็นรูปทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๕๐ – ๗๐ เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว ด้านในจะเป็นโครงโคมที่มีเส้นด้ายเวียนไปตามเสาโครงด้านในเป็นวงกลม ติดรูปภาพที่ตัดจากกระดาษสีดำ เป็นรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดรชาดก รูปนักษัตรปีเกิด รูปวิถีชีวิต ฯลฯ ส่วนด้านบน ติดกระดาษสา เจาะเป็นใบพัดช่องระบายอากาศ ใส่เข็มติดไว้กับไม้แกนกลางโครงตัวใน นำมาวางอยู่บนถ้วยเล็กตรงแกนเสาโคม เมือจุดเทียนหรือผางประทีสข้างในตัวโคม ความร้อนจะดันใบพัดทำให้โคม ผัด หรือ หมุนฉายภาพ เรื่องราว ที่ประดับตกแต่งภายใน โคมผัดนี้ มักจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เพราะมีลักษณะที่แปลกกว่าโคมชนิดอื่นๆ
4. การทำตุง : นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตุงล้านนา คำว่า ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตรงกับลักษณะประเภท ปกาฏะ ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัสดุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้องเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ทองเหลือง ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่าง ๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย จุดประสงค์ของการทำตุงในล้านนาดังนี้ คือ - ถวายเป็นพุทธบูชา สร้างให้แก่ตนเองและผู้ล่วงลับไปแล้ว จะได้พ้นจากเวรกรรมและได้ขึ้นสวรรค์- ประดับประดาศาสนสถาน ศาสนาวัตถุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง เช่น งานปอยหลวง เป็นต้น - เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะภัยที่เชื่อว่าเกิดจากภูตผีปีศาจ หรือบาปกรรมทั้งหลาย - ใช้ในทางไสยศาสตร์ ทำเสน่ห์บูชาผีสางเทวดา - ใช้ในพิธีกรรมและเทศกาลต่าง ๆ เช่น พิธีสวดมนต์ พิธีสืบชาตา การขึ้นทาวทั้งสี่ การตั้งธรรมหลวง งานปอยหลวง ทอดกฐิน ประเพณีสงกรานต์
ตัวอย่างประเภทของตุง ตุง ที่ใช้ในงานพิธีมงคล เพื่อประดับตกแต่งสถานที่ที่มีงานสมโภชฉลองถาวรวัตถุ ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นเครื่องหมายนำทางไปสู่บริเวณงาน มีดังนี้ ตุงไชย (ตุงไจย) เป็นตุงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนยาว ถือว่ายิ่งยาวยิ่งมีอานิสงค์มาก ตุง ไชยทำด้วยผ้า เส้นฝ้าย เส้นไหม ซึ่งจะทอเป็นใยโปร่ง มีการตกแต่งประดับประดา บ้างก็ทักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม ถ้าผืนยาวมากมักใช้ไม่ไผ่ลำโต ทำเป็นเสาตุงใช้ในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ชาวบ้านจะช่วยกันทำตุงไชยมาปักเรียงรายตามสองข้างทางที่จะเข้าสู่วัด การที่นำตุงไชยมาปักเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ นอกจากปักได้สองข้างทางเข้าวัดแล้ว ยังมีการประดับประดาไว้ รอบศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ที่ทำพิธีฉลองกันด้วย
ตุงตัวเปิ้ง คือตุงประปีเกิด เป็นตุงทำด้วยกระดาษ หรือผ้าทอ, พิมพ์หรือเขียนเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิด นิยมปักบนเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ หรือแขวนบริเวณหน้าพระประธาน