สายด่วนนายก 093-130-3409
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT)
ช่องทางการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT)
แบบประเมินความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของเทศบาลตำบลท่าวังตาล
หน้าแรก » ข่าวกิจกรรม » ภูมิปัญญาท้องถิ่น อุตสาหกรรมและหัตถกรรม
ภูมิปัญญาท้องถิ่น อุตสาหกรรมและหัตถกรรม
สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อ ชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัยประหยัด และเป็นธรรมอันเป็นกระบวนการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทาง เศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม
วิทยากร โดย นายบุญรวย ปุกแก้ว หมู่ 3 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
มะพร้าว เป็นพืชสารพัดประโยชน์จากทุกส่วนของต้น เป็นที่มาของปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มาตั้งแต่โบราณกาล เราใช้ประโยชน์จากมะพร้าวได้หลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ จานรองแก้ว กระดุม และอีกมากมาย
วิทยากร โดย นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
“การต้องลาย” เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของชาวล้านนา ต้องใช้ความประณีตในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สวยงาม อ่อนช้อยตามแบบของล้านนา เดิมมีการดุนสลักเงินเป็นหลัก แต่มาถึงปัจจุบันเนื้อเงินมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้ช่างดุนเงินเปลี่ยนเป็นโลหะแทน การต้องลาย หรือการต๋งลายของล้านนา คือการตอกลายลงบนแผ่นโลหะ ทางภาคกลางเรียกว่า การบุดุนโลหะ เพื่อให้เกิดความต่างระดับ มิติสูง ต่ำ ของลวดลาย ลักษณะเด่นของการต้องลายล้านนา คือ การแกะลายทั้งสองด้าน แล้วใช้วิธีการดุนลายจากด้านในให้นูนตามโครงร่างรอบนอกของลายก่อน แล้วจึงใช้วิธีการตอกลายจากด้านนอกเข้าไปเพื่อทำรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ลักษณะลวดลาย ประกอบด้วย
- ลายเบา เป็นลายที่ช่างใช้เครื่องมือตอกลงไปบนภาชนะเพื่อให้เกิดลวดลายบนพื้นผิวโดยไม่มีมิติความสูงต่ำ
- ลายนูนต่ำ เป็นลายที่เกิดจากการตอกลายด้านในเพื่อให้นูนเห็นลวดลายด้านนอกและลายนูนสูง เป็นขั้นตอนการทำลายที่สลับซับซ้อนมาก ต้องมีสมาธิ ใจเย็น และความอดทนสูง
วิทยากร โดย นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ในช่วงก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนยี่ชาวล้านนาที่มีฝีมือเชิงช่างจะประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่างๆ เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้ หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมล้านนา มีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร) โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว (โคมเพชร) โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัวโคมญี่ปุ่น โคมผัด ฯลฯ ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบใหม่ เช่น โคมรูปจรวด รูปเครื่องบิน โคมร่ม โคมปราสาท ฯลฯ รูปทรงและการประดับตกแต่งลวดลาย เป็นรูปแบบเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น
ประเภทของโคมยี่เป็งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
1) โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร)
มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า ธรรมจักร โคมรังมดส้มนี้ ใช้ไม้ไผ่เฮียะ เหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒ - ๓ มิลลิเมตร นำมาหักเป็น ๑๖, ๒๔ เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำมาผูกด้วยด้ายให้แน่น เมื่อมัดโครงเสร็จแล้ว นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อทำเป็นโครงสำเร็จแล้วติดกระดาษรอบโครง ปล่อยส่วนบนไว้ เพื่อเป็นช่องใส่ผางประทีป
2) โคมกระจัง
มีรูปทรงคล้ายกระจังสวมมงกุฏ เป็นโคมรูปแบบสมัยใหม่ บ้างเรียกโคมไห เพราะขึ้นรูปแบบโคมไห แต่เอาส่วนปลายเป็นส่วนหัว ส่วนหัวเป็นส่วนปลายโคม ส่วนคำว่า กระจัง คือลายไทยรูปแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายกลีบของดอกบัว หรือตาอ้อย
3) โคมดาว
เป็นโคมรูปดาว มีห้าแฉก ตัวโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะ หักมุมเป็นห้ามุม ใช้กระดาษสาหรือผ้าติดหุ้มตัวโครง ตัดกระดาษสีเงินสีทองประดับตกแต่งลวดลาย ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายดวงตะวัน (พระอาทิตย์) เป็นลายลักษณะรูปกลม เจาะช่องตรงกลางเป็นปล่องสำหรับใส่ผางประทีป เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา
4) โคมหูกระต่าย
เป็นโคมยี่เป็งอีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่าย ฐานโคมเป็นไม้หนาประมาณ ๕ มิลลิเมตร ทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เจาะรูตรงมุมทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒๕ – ๓๐ เซนติเมตร เหลาให้มีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ปักลงไปในรูที่เจาะไว้ทั้งสี่มุมดัดไม้ไผ่เหลาเป็นรูปโค้งคล้ายหูกระต่าย หรือกลีบดอกบัว ให้ส่วนบนผายออกกว้างประมาณ ๑๕ เชนติเมตร จะได้ตัวโคมที่มีปากบาน คล้ายหูกระต่าย ประดับตกแต่งด้วยกระดาษแก้วทั้งสี่ด้าน หรือใช้กระดาษสาก็ได้
วิทยากร โดย นายพลเทพ บุญหมื่น หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ตุงล้านนา คำว่า ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตรงกับลักษณะประเภท ปกาฏะ ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัสดุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้องเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ทองเหลือง ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่าง ๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย
ประเภทของตุง
1. ตุง ที่ใช้ในงานพิธีมงคล เพื่อประดับตกแต่งสถานที่ที่มีงานสมโภชฉลองถาวรวัตถุ ทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นเครื่องหมายนำทางไปสู่บริเวณงาน เช่น
ตุงไชย (ตุงไจย) เป็นตุงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนยาว ถือว่ายิ่งยาวยิ่งมีอานิสงค์มาก ตุง ไชยทำด้วยผ้า เส้นฝ้าย เส้นไหม ซึ่งจะทอเป็นใยโปร่ง มีการตกแต่งประดับประดา บ้างก็ทักทอเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม
ตุงใย (ตุงใยแมงมุม) คือ ตุงที่ทำด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหม ผูกกันคล้ายใยแมงมุม เพื่อใช้ในพิธีสำคัญทางศาสนาเช่นเดียวกับตุงไชย หรือแขวนไว้ในวิหารหน้าพระประธานถวายเป็นพุทธบูชา การทำตุงชนิดนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละหมู่บ้าน
ตุงตัวเปิ้ง คือตุงประจำปีเกิด เป็นตุงทำด้วยกระดาษ หรือผ้าทอ, พิมพ์หรือเขียนเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิด นิยมปักบนเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์ หรือแขวนบริเวณหน้าพระประธาน
2. ตุงที่ใช้ในการประกอบพิธีงานอวมงคล ได้แก่
ตุงสามหาง เป็นตุงที่อาจเรียกชื่อว่า ตุงรูปคนหรือตุงผีตาย ใช้สำหรับนำหน้าศพในสู่สุสานหรือเชิงตะกอน เป็นตุงที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อรวมลักษณะแทนตัวคนเราไว้ด้วยกัน
ตุงเหล็ก, ตุงตอง ทำด้วยแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองขนาดเล็กยาวประมาณ 1 คืบ กว้างประมาณ 2 นิ้ว มีคันตุงทำจากเส้นลวดหรือไม้ไผ่ก็ได้ ส่วนมากจะทำอย่างละ 108 อัน มัดติดเป็นพวงโดยทำฐาน ตั้งไว้ หรือบางแห่งจะวางไว้บนโลงศพ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านมักจะนำมาไว้ที่วัด ตามฐานชุกชี เมื่อจำเป็นต้องใช้งานอีก ก็ไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่
ตุงขอนนางผาน มีลักษณะเป็นตุงขนาดเล็กประดับอยู่ที่ปลายทั้งสองข้างของก้นไม้เล็ก ๆ ที่ติดขวางบนตุงผืนใหญ่ที่เป็นระยะ ๆ บางครั้งทำเป็นรูปทรงคล้ายพู่ห้อย ตุงนี้ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายที่ฐานะยากจนหรือไร้ญาติ